ข้อตกลงว่าด้วยอัคคีภัยและและความปลอดภัยอาคารในบังกลาเทศ

บังกลาเทศเป็นผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่เป็นอันดับสี่ของสหรัฐฯ โดยภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มคิดเป็น 80% ของการส่งออกของประเทศ และมีการจ้างงานมากกว่า 3.5 ล้านคน คนงานเหล่านี้เผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้ายที่สุดในอุตสาหกรรม รวมไปถึงค่าจ้างที่ต่ำมาก การล่วงละเมิดทางวาจาและทางร่างกาย การถูกตอบโต้หากสนับสนุนให้มีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น และสภาพอาคารโรงงานที่ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง

ตั้งแต่ปี 2548 สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยเหล่านี้ได้คร่าชีวิตคนงานชาวบังกลาเทศไปเกือบ 2,000 คน จากภัยพิบัติด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัยและอาคาร ซึ่งทั้งหมดนี้มันสามารถป้องกันได้ ในเดือนเมษายน 2556 ครั้งเดียว คนงาน 1,134 คน ได้เสียชีวิต เมื่ออาคารรานาพลาซ่าพังถล่มทลายลง นับเป็นหายนะครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรม โรงงานต่างๆ ที่อยู่ในอาคารรานาพลาซ่าขณะนั้นกำลังผลิตสินค้าให้กับยี่ห้อสินค้าและร้านค้าปลีกรายใหญ่หลายแห่ง ซึ่งรวมถึง JCPenney, The Children’s Place และ Walmart บริษัททั้งหลายเหล่านี้ฯ หลายแห่งได้ตรวจสอบโรงงานมาในช่วงก่อนหน้านี้หลายเดือนก่อนที่จะนำไปสู่การพังถล่มทลาย แต่ทว่า การตรวจสอบเหล่านี้นับว่าเป็นอันล้มเหลว ที่ไม่สามารถระบุหรือแก้ไขการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยอันนำไปสู่ภัยพิบัติ

 

รูปแบบใหม่ : การทำข้อตกลง

เมื่ออาคาร Rana Plaza พังถล่มทลายลงในปี 2556 โดยระยะเวลาหลายปีก่อนหน้านี้ WRC ได้ทำงานอย่างหนัก ในการกดดันให้ยี่ห้อสินค้าเครื่องแต่งกายเปลี่ยนแปลงแนวทางในเรื่องการป้องกันอัคคีภัยและความปลอดภัยอาคารในบังกลาเทศโดยสิ้นเชิง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงด้านความปลอดภัยอย่างแท้จริงในโรงงานที่เป็นผู้ผลิตสินค้าที่นั่น อีกทั้งทั่วโลกให้ความสนใจติดตามหลังจากเกิดภัยพิบัติ ส่งผลกดดันให้ยี่ห้อสินค้าต่างๆ กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา ซึ่ง WRC พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตรทั้งหลายได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการโน้มน้าวให้ยี่ห้อสินค้าต่างๆ ลงนามเป็นประวัติศาสตร์ในข้อตกลงว่าด้วยอัคคีภัยและความปลอดภัยอาคารในบังกลาเทศ ข้อตกลงฯ นี้ เป็นข้อตกลงฯ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายฉบับแรกระหว่างคนงาน ผู้จัดการโรงงาน และบริษัทเครื่องนุ่งห่ม ที่กำหนดให้ยี่ห้อสินค้าและผู้ค้าปลีกต้องดำเนินการ ดังนี้:

  • เปิดเผยโรงงานผู้ผลิตสินค้าให้กับยี่ห้อสินค้าต่างๆ เพื่อให้มีการตรวจสอบโดยอิสระโดยผู้เชี่ยวชาญและวิศวกร
  • อนุญาตให้ผลการตรวจสอบทั้งหลายถูกรายงานเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมทั้งให้จัดเก็บอยู่ในฐานข้อมูลที่ค้นหาได้
  • ช่วยจ่ายค่าปรับปรุงด้านความปลอดภัยที่สำคัญ
  • หยุดดำเนินธุรกิจกับโรงงานใดๆ ที่ไม่ปรับปรุงด้านความปลอดภัยที่จำเป็น

นอกจากนี้ ในข้อตกลงฯ ยังระบุวิธีการร้องเรียน โดยคนงานสามารถแจ้งหากมีแนวโน้มการถูกละเมิดที่อาจเกิดขึ้นที่โรงงานของตนไปยังผู้ดูแลข้อตกลงฯ โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อหรือตัวตน และมีกลไกบังคับใช้ที่สามารถดำเนินคดีกับผู้ลงนามที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงฯ ได้

ข้อตกลงฯ ดังกล่าว แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงในการแก้ไขปัญหาการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งก่อนหน้านี้การตรวจสอบความปลอดภัยฯ จะทำโดยความสมัครใจของบริษัท โดยขาดทั้งกลไกบังคับใช้และความโปร่งใส แต่ภายใต้ข้อตกลงฯ นี้ ยี่ห้อสินค้าและผู้ค้าปลีกมีหน้าที่รับผิดชอบทางกฎหมาย และให้การรับรองว่าคนงานที่ผลิตเสื้อผ้าของตนได้ทำงานในสภาพที่ปลอดภัย

 

ข้อตกลงในปัจจุบันนี้

ปัจจุบันนี้ ยี่ห้อสินค้าและผู้ค้าปลีกเกือบ 200 ยี่ห้อ ได้ลงนามในข้อตกลง “Accord 2018” โดยได้ขยายข้อตกลงเดิมออกไปอีก 3 ปี มียี่ห้อสินค้าต่างๆ ที่ลงนาม และรวมไปถึงผู้ค้าปลีกแฟชั่นรายใหญ่ที่สุด 3 ใน 4 ของโลก ได้แก่ H&M, Inditex และ UNIQLO ยี่ห้อสินค้าต่างๆ เหล่านี้ มีแหล่งผลิตที่มาจากโรงงานมากกว่า 1,600 แห่ง มีการจ้างคนงานรวมกันกว่า 2 ล้านคน จากการตรวจสอบโรงงานเหล่านี้ มีการเปิดเผยพบว่า มีการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยเกือบ 130,000 ครั้ง ตั้งแต่โครงสร้างเสียหายไปจนถึงมีเส้นทางหนีไฟที่ไม่ปลอดภัย ณ ปัจจุบัน อันตรายด้านความปลอดภัยส่วนใหญ่ได้ถูกแก้ไขออกไปแล้ว

วันที่ 1 มิถุนายน 2563 สำนักงานของข้อตกลง Accord ในบังกลาเทศ (The Bangladesh office of the Accord) ได้ปิดตัวและโอนหน้าที่ให้กับองค์กรท้องถิ่นที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น คือ The Ready-Made-Garment Sustainability Council (RSC) RSC จึงเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนดำเนินการโครงการความปลอดภัยภายใต้ข้อตกลง Accord ในบังกลาเทศแทนสำนักงานของข้อตกลงฯ เดิม RSC จึงไม่ใช่ข้อตกลง Accord หรือจะแทนที่ข้อตกลง Accord ที่มีอยู่ ดังนั้น ภาระผูกพันของยี่ห้อสินค้าภายใต้ข้อตกลง Accord ยังคงมีผลบังคับใช้และไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าข้อตกลงฯ Accord หมดอายุในวันที่ 31 สิงหาคม 2564

สหภาพแรงงานและผู้สนับสนุนด้านสิทธิแรงงานเสนอข้อตกลง Accord ใหม่ โดยยังคงใช้ข้อตกลง Accord ในบังกลาเทศเป็นต้นแบบ ซึ่งช่วยลดการเสียชีวิตของคนงานได้หลายร้อยหรือหลายพันคน และโรงงานหลายแห่งยังคงต้องการการปรับปรุง นอกจากนี้ ได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานไปยังประเทศอื่นๆ ได้แก่ ประเทศปากีสถานซึ่งคนงานมีชีวิตที่เสี่ยงอยู่เป็นประจำ เป็นต้น

ผลสำเร็จของการเจรจาในฤดูร้อนปี 2564 เป็นที่รับรองได้ว่าประโยชน์มหาศาลที่ได้รับจากข้อตกลง Accord ในบังกลาเทศจะยังคงอยู่และถูกขยายออกไป เกิดข้อตกลงความปลอดภัยระหว่างประเทศใหม่ มีอายุ 26 เดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นข้อตกลงใหม่ฯ ที่ยังคงรักษาองค์ประกอบที่สำคัญของรูปแบบข้อตกลง Accord ในบังกลาเทศ ได้แก่ การบังคับใช้ทางกฎหมายกับยี่ห้อสินค้าในเรื่องภาระหน้าที่ของยี่ห้อสินค้า การปฏิบัติตามภาระหน้าที่ของยี่ห้อสินค้าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เป็นอิสระ ภาระหน้าที่ในการจ่ายราคาให้กับซัพพลายเออร์สูงเพียงพอที่จะสนับสนุนให้มีสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย และภาระหน้าที่ในการยุติการทำธุรกิจกับโรงงานใดๆ ที่ปฏิเสธที่จะดำเนินกิจการอย่างปลอดภัย เป็นต้น รูปแบบนี้ ซึ่งได้ช่วยชีวิตคนจำนวนนับไม่ถ้วนในบังกลาเทศ มันจะถูกขยายไปยังประเทศอื่นๆ ที่ชีวิตคนงานยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงทุกวัน บริษัทเครื่องแต่งกาย 187 แห่งได้ลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่ เรียกว่า ข้อตกลง Accord เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

 

บทบาทของ WRC

WRC ยังคงมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการและบังคับใช้ข้อตกลงฯ Accord ในฐานะที่เป็นพยานผู้ลงนามในคณะกรรมการกำกับข้อตกลงฯ Accord และ WRC ยังทำงานร่วมกับสมาชิกคณะกรรมการกำกับข้อตกลงฯ Accord เพื่อให้มั่นใจว่าหลักการของข้อตกลงฯ Accord ได้รับการดำเนินการอย่างเต็มที่ และมีการตรวจสอบความปลอดภัยฯ และมีการปรับปรุงแก้ไขเกิดขึ้นอย่างทันกาล